ก้าวเข้าสู่ปีใหม่ 2018 นักการตลาดจำนวนไม่น้อย ได้ทำการวิเคราะห์ และสรุปผลภาพรวมของ ธุรกิจออนไลน์ ที่ผ่านมาและแนวโน้มว่าจะไปต่อกันทางไหน เพื่อใช้สำหรับวางแผนธุรกิจในอนาคต กันอย่างคึกคักเลยทีเดียว
ในส่วนของ ธุรกิจออนไลน์ หรือ e-commerce นั้น มีหัวขบวนอย่าง สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ” ETDA ” ที่ได้ทำการสรุปรายงาน ผลสำรวจมูลค่ารวมของ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยในช่วงปี 2017 ที่ผ่านมา ให้ผู้ประกอบการ e-commerce หรือบุคคลทั่วไป สามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้เพื่อการ วิเคราะห์ และวางแผนธุรกิจ ของตน

จากข้อมูล พบว่า มูลค่า e-commerce ในประเทศไทย สูงถึง 2.8 ล้านล้านบาท ติดอันดับ 1 ของอาเซียนเลยทีเดียว อะไรคือปัจจัย ที่ทำให้ e-commerce ในประเทศไทยถึงมีมูลค่าสูงถึงขนาดนี้ วันนี้ Brand DooDee มีคำตอบครับ
4 ปัจจัยที่ทำให้ ธุรกิจออนไลน์ ในประเทศไทยเติบโต
1.การสนับสนุนจากภาครัฐ
ภาครัฐบาลได้มีบทบาทเข้ามาสนับสนุน และเร่งพัฒนาให้ผู้ประกอบการฐานราก ทั้งด้านเกษตรกร และผู้ประกอบการท้องถิ่น สามารถนำผลิตภัณฑ์ และผลผลิตของพวกเขา มาขายบนพื้นที่ออนไลน์ได้ โดยหน่วยงานของรัฐที่ให้การสนับสนุนได้แก่ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
2. ผู้ประกอบการหันมาเพิ่มช่องทางขายบนออนไลน์มากขึ้น
ในยุคที่อะไรต่อมิอะไร ก็ออนไลน์ไปหมด ไม่เว้นแม้แต่เรื่องการซื้อสินค้าและบริการ ทำให้ผู้ประกอบการที่มีเพียงหน้าร้านเป็นช่องทางการขายสินค้าเพียงทางเดียว จำเป็นต้องปรับตัวเพื่อให้เข้ากับความต้องการของลูกค้าในการซื้อสินค้า หากดูจากข้อมูล เปอร์เซ็นต์ของผู้ประกอบการใน e-commerce ช่วงปี 2557-2559 โดยแบ่งตามลักษณะการขายสินค้า และบริการแล้ว จะเห็นได้ว่า ผู้ประกอบการที่ขายสินค้าผ่านช่องทางอินเตอร์เน็ตอย่างเดียวนั้นมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะการลงทุนที่ไม่มาก ไม่มีข้อจำกัด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสถานที่ หรือเวลา จึงทำให้ผู้ประกอบการที่มีแค่เพียงหน้าร้าน หันมาขยายช่องทางการขายสินค้าผ่านทางออนไลน์ ทั้งนี้เพื่อเพิ่มโอกาสในการขายสินค้าของตนนั่นเอง
3.พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของคนไทย
คนไทยส่วนใหญ่หันมาซื้อของออนไลน์กันมากขึ้น จากผลสำรวจการใช้งานอินเตอร์เน็ตของคนไทยในปี 2560 การซื้อขายสินค้าออนไลน์นั้น อยู่อันดับที่ 5 ขึ้นมากจากอันดับที่ 8 เมื่อปี 2559 เนื่องจากการซื้อสินค้า และบริการผ่านช่องทางออนไลน์นั้น มีความสะดวก สินค้าให้เลือกหลากหลาย และสามารถเปรียบเทียบราคาก่อนตัดสินใจซื้อได้ อีกทั้งยังมีช่องทางการชำระเงินได้หลากหลายช่องทางอีกด้วย
4. นักลงทุนชาวต่างชาติ เข้ามาลงทุนในธุรกิจ e-commerce มากขึ้น
การลงทุนของต่างชาติ ใน e-commerce ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของตลาดกลาง (Marketplace) การจัดส่งสินค้า (Logistic) หรือ ระบบการชำระเงิน (Payment Gateway) โดยประเทศที่เข้ามาลงทุนธุรกิจ e-commerce ในไทยนั้น มีทั้ง สิงคโปร์ ไต้หวัน จีน เกาหลี และมาเลเซีย เป็นต้น ซึ่งนอกจากจะเป็นการสร้างบรรยากาศการแข่งขันให้คึกคักขึ้นแล้ว ยังเป็นการกระตุ้นให้ผู้ประกอบการชาวไทยต้องรีบพัฒนาตัวเองขึ้นด้วย

จากปัจจัยต่างๆ ข้างต้น คงจะเป็นข้อมูลที่ช่วยให้ท่านสามารถคาดการณ์ถึงการเติบโตและการแข่งขันของ e-commerce ในปี 2018 ได้เป็นอย่างดี สำหรับท่านที่ยังลังเลอยู่ว่าจะทำธุรกิจออนไลน์ดี หรือไม่นั้น ขอให้ลองศึกษาข้อมูลต่างๆ ให้พร้อมก่อนลงสนาม เพื่อให้ธุรกิจของท่าน สามารถเดินหน้าอย่างเป็นระบบ และเติบโตอย่างยั่งยืนครับ